โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น
“ผ้าขาวม้า” เป็นผ้าท้องถิ่นของไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน ชุมชนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศต่างยึดถือการทอผ้าขาวม้าเป็นอาชีพเสริมหลังการทำเกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย โดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอยของผ้าขาวม้าให้กับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาคุณภาพ เทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งอยู่คู่กับชนบทไทยมาเป็นเวลาช้านานให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
โดยการทำงานของโครงการนี้ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน 4 มิติ คือ
- การสร้างความตระหนักรู้ และความสนใจในผ้าขาวม้าทอมือในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
- การสร้างนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน
- การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิ การใช้สีธรรมชาติ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
- การผลักดันให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนทั้งในด้านลิขสิทธิ์ลายผ้า เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร